News/Topics Safety Products Services About Contact Us
 
 
 
Knowledge
ความรู้เกี่ยวกับโรงงูสวัด
 
 

งูสวัด (Herpes zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส VZV ที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส ไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก ตราบเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ไวรัส VZV ที่ก่อโรคจะกำเริบโดยแสดงออกซึ่งอาการของโรคงูสวัดที่ทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน มีผื่นแดงขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท มีตุ่มน้ำใสขึ้น และอาจมีไข้ร่วม งูสวัดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น งูสวัดขึ้นตา อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (PHN) หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท ผู้ที่มีอาการต้องสงสัยด้วยโรคงูสวัดควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและรับยาต้านไวรัสโดยเร็ว

โรคงูสวัด เกิดจากอะไร?
งูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) ที่เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส แต่เมื่อหายดีแล้ว เชื้อไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ได้นานหลายปีจนเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่จะค่อย ๆ กำเริบโดยการแบ่งตัว เพิ่มจำนวน และแพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึกและรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปวดตามแนวเส้นประสาท เกิดรอยโรคลักษณะผื่นแดงที่ผิวหนัง ตามด้วยตุ่มน้ำใสขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่ม พาดยาวตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน เจ็บแปลบตามร่างกาย ปวดหัว และอาจมีไข้ร่วม ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัดด้วยกันทั้งสิ้น

ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัด คือใคร?
• ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
• ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
• ผู้ที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน
• ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
• ผู้ที่เป็นมะเร็ง
• ผู้ป่วยติดเตียง
• ผู้ที่มีความเครียด
• ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
• ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
• ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
• ผู้ที่รับยาเคมีบำบัด
• ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) โรคหัวใจ โรคไต

อาการงูสวัด เป็นอย่างไร?
อาการงูสวัดแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. งูสวัดระยะเริ่มมีอาการ (Preeruptive phase)
เป็นระยะที่เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่ แพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึก (Sensory ganglion) และรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ มีอาการชา เจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนข้างใดข้างหนึ่ง (unilateral) ของผิวหนังตามแนวเส้นประสาท ร่วมกับมีอาการคัน ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหัว ในบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ท้องเสียหรือมีภาวะตาสู้แสงไม่ได้ งูสวัดระยะเริ่มมีอาการมีระยะเวลาประมาณ 1-3 วัน แต่จะยังไม่มีรอยโรคขึ้นที่ผิวหนัง

2. งูสวัดระยะออกผื่น (Acute eruption phase)
เป็นระยะที่มีรอยโรคขึ้นเป็นผื่นแดงที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ตามด้วยตุ่มน้ำใส (Vesicle) ขึ้นพาดเรียงกันเป็นกลุ่มยาวตามแนวปมประสาทที่บริเวณด้านซ้ายหรือด้านขวาของสีข้างลำตัว แผ่นหลัง หรือขา ด้านในด้านหนึ่งของใบหน้า ดวงตา หรือลำคอ โดยผื่นงูสวัดจะไม่กระจายตัวทั่วไปเหมือนผื่นโรคอีสุกอีใสและจะขึ้นเต็มที่ภายใน 3-5 วัน ผู้ที่เป็นงูสวัดระยะออกผื่นจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บแปลบที่ผิวหนังแม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า ต่อมาผื่นจะแตกออกกลายเป็นแผล ค่อย ๆ แห้ง ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังภายใน 10-15 วัน ทั้งนี้ ผื่นงูสวัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นปกติ มักขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็ง โรคเอดส์ หรือผู้ที่รับยาเคมีบำบัด ผื่นงูสวัดอาจมีความรุนแรงกว่าและอาจขึ้นแบบพันรอบตัว

3. งูสวัดระยะฟื้นหายจากโรค (Chronic phase)
เป็นระยะหลังจากที่โรคงูสวัดสงบลง ผื่นงูสวัดจะค่อย ๆ ยุบตัวลง รอยโรคที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทจะค่อย ๆ จางหาย แต่จะยังคงมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น อาการปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนมีเข็มทิ่มตำ หรือเจ็บแปล๊บ ๆ ตามแนวเส้นประสาทตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง อาจมีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ บางรายอาจปวดไปอีกนานหลายปี
งูสวัดหลบใน (Zoster Sine Herpete: ZSH)
ผู้ที่เป็นงูสวัดบางรายอาจมีอาการงูสวัดหลบใน โดยจะมีอาการชา คัน ปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาทรับความรู้สึกแต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการงูสวัดหลบใน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม

#การรักษางูสวัด มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการรักษาโรคงูสวัดด้วยหลักการเร่งบรรเทาความรุนแรงของโรค ลดอาการเจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ร่างกายหายจากโรคโดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษางูสวัดตามระยะอาการของโรคที่ตรวจพบควบคู่กับการให้ยา ทั้งนี้การรักษาโรคงูสวัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการเริ่มรักษาทันทีที่ผื่นงูสวัดขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมง การรรักษางูสวัดมีวิธีการดังนี้

- การให้ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs) แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Famciclovir หรือ Valaciclovir เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอาการอักเสบและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง ลดอาการปวดแสบปวดร้อน ช่วยให้ตุ่มน้ำยุบตัวลงเร็วขึ้น ช่วยลดการเกิดผื่นซ้ำ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคโดยเร็ว และช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด

- การให้ยาต้านแบคทีเรีย (Antibacterial drugs)แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านแบคทีเรีย เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาในผู้ที่เป็นงูสวัดแล้วเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด และเร่งให้ผื่นงูสวัดยุบตัวลงโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่งูสวัดขึ้นตา หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า

- การให้ยาแก้ปวด (Pain reliever) ในกรณีที่อาการงูสวัดมีความเจ็บปวดรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยากลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อทุเลาอาการปวด

 
 
 
 
Copyright © 2021 STANDARD MANUFACTURING CO., LTD. All right reserved.